“แสงวูบวาบ แสงออร่า จุดหนาทึบจำนวนมาก”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติทางประสาทของคุณป้ายาโยอิ คุซามะ เมื่ออายุได้เพียง 10 ขวบ สิ่งเหล่านี้เกิดซ้ำไปซ้ำมาเช่นเดียวกับปัญหาในครอบครัวที่เกิดจากความเจ้าชู้ของผู้เป็นพ่อ ซึ่งทำให้แม่มักนำความเครียดมาลงที่คุณป้า และมักจะใช้ให้ไปแอบสืบเรื่องการนอกใจอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นปมในใจไม่รู้ตัว
พ่อของฉันมีชู้ และหน้าที่ฉันคือต้องสืบหาชู้แทนแม่ เพราะแม่ของฉันโกรธกับเรื่องนี้มาก มันทำให้ฉันคิดว่าเซ็กส์ก็เป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจ และการทำงานของฉันคือการเอาชนะประสบการณ์เลวร้ายเหล่านั้นให้ได้
คุณป้าเติบโตที่เมืองมัตสึโมโตะ จังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คนที่ครอบครัวทำธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นกล้าและขายเมล็ดพันธุ์พืช ทำให้คุณป้ามีความผูกพันธ์กับดอกไม้รวมไปถึงฟักทองที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้งานในอนาคต แต่เส้นทางศิลปะของคุณป้าก็ไม่เรียบง่าย เนื่องด้วยการที่งานศิลปะยังไม่เป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น รวมถึงแนวคิดชายเป็นใหญ่ ที่มักจะด้อยค่าผู้หญิงว่าต้องแต่งงานและเป็นแม่บ้านดูแลสามีเท่านั้น แม้ครอบครัวจะไม่เห็นด้วย แต่คุณป้าก็พยายามเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศิลปะญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่สังคมญี่ปุ่นต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกอย่างหนัก ทำให้ศิลปะในโรงเรียนมีเพียง Nihonga ศิลปะญี่ปุ่นโบราณ ที่คุณป้ารู้ดีว่าไม่ใช่ตัวตนของเธอเลยแม้แต่น้อย
แต่การค้นหาตัวตนยังคงดำเนินต่อไป คุณป้าเริ่มศึกษาสไตล์ศิลปะตะวันตกด้วยตนเอง โดยเฉพาะแนว Avant-Garde ที่เน้นความล้ำยุค และแนว Abstract ที่เน้นความเป็นนามธรรม จนถึงวันหนึ่งที่กลายเป็น “จุด” เริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
"ในวันหนึ่งที่ฉันเหม่อมองดูลวดลายของดอกไม้สีแดงบนผ้าปูโต๊ะ
เมื่อเงยหน้าขึ้น ฉันเห็นมันค่อย ๆ ปกคลุมไปทั่วเพดาน หน้าต่าง และผนัง
จนสุดท้ายมันก็เต็มไปทั่วทั้งห้อง รวมถึงร่างกายของฉันและทั้งจักรวาล"
จุดเหล่านั้นกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้คุณป้าสร้างสรรค์ผลงานชุด Infinity Nets ที่ถ่ายทอดถึงความทรงจำที่ต้องหวาดกลัวภาพหลอนในวัยเด็ก โดยใช้แปรงวาดและทิ่มลงบนผ้าใบซ้ำ ๆ ซึ่งคุณป้าก็ได้นิยามสิ่งนี้ว่า Self-obliteration หรือ การลบเลือนตัวเอง โดยผลงาน No.2 ของผลงานชุดนี้ ในภายหลังได้ถูกประมูลไปในปี 2008 ในราคาประมาณ 186,872,625 บาท
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการเบื่อหน่ายแนวคิดสังคมญี่ปุ่น เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คุณป้าตัดสินใจมุ่งหน้าสู่อเมริกา และแน่นอนว่าจุดเริ่มต้นนั้นไม่เคยง่าย ที่ซีแอตเทิล ผลงาน No.2 ที่มูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน ในช่วงเวลานั้นเคยมีค่าเพียง 200 ดอลลาร์เท่านั้น ทำให้บางวันคุณป้าต้องนอนริมถนน รวมไปถึงการคุ้ยถังขยะหาเศษอาหารกิน แต่ด้วยความช่วยเหลือ จาก Georgia O’Keeffe ที่คุณป้าเคยส่งจดหมายติดต่อขณะอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็ช่วยให้คุณป้าได้ไปทำงานและเริ่มจัดแสดงผลงานต่าง ๆ ที่นิวยอร์ก
การได้มาใช้ชีวิตและเดินตามความฝันที่นิวยอร์ก ทำให้ตัวตนของคุณป้าเริ่มชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปี 1960s โดยเฉพาะการผลิตผลงานศิลปะแนว Art Performance หรือ Happening ที่ช่วยสะท้อนปมในจิตใจของคุณป้าในวัยเด็กได้เป็นอย่างดี เช่น Infinity Mirrored Room – Phalli’s Field หรือ ห้องกระจกลายจุด ที่มีการใช้วัตถุลายจุดที่เปรียบเสมือนอวัยวะเพศชายจำนวนมาก มาเล่นกับการสะท้อนของกระจกไปมาอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งคาดว่าเป็นการบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องปัญหาครอบครัวที่เกิดจากความเจ้าชู้ของผู้เป็นพ่อ ที่มักทำร้ายจิตใจของคุณป้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า
นอกจากการแสดงออกถึงเรื่องเพศอย่างเสรี อีกหนึ่งสิ่งที่แสดงออกไม่แพ้กันก็คือเรื่องการเมือง ในปี 1968 คุณป้าได้พากลุ่มคนมาเปลือยกายโดยไม่ลืมที่จะมีจุดเล็ก ๆ เป็นสัญญะตามตัวบนสะพานบรูคลิน เพื่อประท้วงถึงการทำสงครามในเวียดนามของประธานาธิบดี Richard Nixon ของสหรัฐในขณะนั้น และเหตุการณ์นี้ก็ถูกบันทึกอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง Self-obliteration ของคุณป้าเอง เหตุการณ์นี้ถือเป็นเรื่องเอื้อฉาวและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง ส่งผลให้ครอบครัวของคุณป้ารวมถึงประเทศญี่ปุ่นนั้นเกิดความอับอายเป็นอย่างมาก
จิตใจของคุณป้าที่ต้องแบกรับสิ่งต่าง ๆ เรื่อยมาตั้งแต่วัยเด็ก ได้เริ่มแตกสลายลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากการเสียชีวิตของคู่หูอย่าง Joseph Cornell รวมถึงพ่อของคุณป้าในเวลาไล่เลี่ยเพียง 1 ปี จนในปี 1975 คุณป้าก็ได้กลายเป็นผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลเซวะย่านชินจูกุของโตเกียว และในปี 1977 คุณป้าก็ได้เปิดสตูดิโอในบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาล และหันมาผลิตผลงานเชิงวรรณกรรมอย่างนวนิยายหรือบทกวีมากขึ้น จนกระทั่งในปี 1984 แม่ของคุณป้าก็ได้เสียชีวิตลง และคุณป้ายังคงตีพิมพ์วรรณกรรมและจัดแสดงนิทรรศการต่อไป
จนกระทั่งหนึ่งทศวรรษให้หลังจากการสูญเสียคุณแม่ในปี 1994 คุณป้าก็ได้ขุดนำเอาความทรงจำในวัยเด็กที่เกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัวมาผลิตผลงานอีกครั้ง แต่เป็นในรูป Sculpture คุณป้าเล่าว่าในวัยเด็กขณะที่ตามคุณตาและคุณยายไปที่แปลงผัก พืชผักเหล่านั้นรวมถึงฟักทองได้พูดกับคุณป้า คุณป้าเลยนำภาพจำมาผลิตผลงาน “Yellow Pumpkin” ฟักทองขนาดมหึมาใจกลางทะเล งานประติมากรรมกลางแจ้งชิ้นแรกที่ได้ติดตั้งขึ้นเกาะนาโอชิมะของญี่ปุ่น ซึ่งก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของคุณป้าไม่แพ้ Polka-Dots เลย และที่ว่าทำไมต้องเป็นฟักทอง คุณป้าเล่าเสริมว่า เป็นเพราะรูปร่างที่มีความคล้ายคลึงมนุษย์ รวมถึงทุกครั้งที่ได้มองจะรู้สึกถึงความอบอุ่นแถมยังดูตลกอีกด้วย
หลายคนอาจคิดว่าอายุของศิลปินคือเครื่องกำหนดขีดจำกัดในการทำงาน หลายคนพยายามอย่างหนักที่จะประสบความสำเร็จและไปให้ถึงจุดสูงสุดของชีวิตให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้ แต่ถ้าเรายังคงเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ และรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น ความพยายามที่ถูกนั้นย่อมไม่เคยทำร้ายใคร คุณป้าก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการทำงานอีกครั้ง ทั้งชื่อเสียงและรายได้ในปี 2013 ด้วยอายุ 83 ปีในขณะนั้น ด้วยการรวมตัวกันระหว่างวงการแฟชั่นและศิลปะ ด้วยการสร้างสรรค์ร่วมกันกับ Louis Vuitton ที่สินค้าสุดไอคอนิกของป้าได้เขย่าวงการแฟชั่นและศิลปะไปทั่วทั้งโลก ซึ่งก็ทำให้คุณป้าได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอีกมากมาย เช่น Coca-Cola และ Lancôme
ล่าสุดคุณป้าก็ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับ Louis Vuitton อีกครั้งในรอบทศวรรษ โดยในปี 2023 นี้ก็ต้องขอบอกเลยว่า งานไม่ใหญ่แน่นะวิ เพราะนอกจากสินค้าจะ Re-Edition ใหม่ การโปรโมตยังจัดเต็มตามจุดแลนมาร์กสำคัญทั้งใน ปารีส นิวยอร์ก และโตเกียว เรียกได้ว่าเป็นของขวัญครบรอบวันเกิดของคุณป้าในวัย 94 ปีได้อย่างดี และเชื่อไหมว่าถึงอายุจะมากขึ้นก็ไม่ได้ทำสีผม สีลิป ไปจนถึงสีชุดของคุณป้านั้นแดงน้อยลงแต่อย่างใด
Louis Vuitton store (Paris)
Louis Vuitton store (New york)
Louis Vuitton store (Tokyo)
นอกจากจะเป็นผู้ให้กำเนิด Polka-Dots แล้ว คุณป้ายังฝากคำพูดไว้ให้ขบคิดอีกด้วยว่า
โลกของเรานั้นเป็นเพียงจุดหนึ่ง
จุดเดียวท่ามกลางดวงดาวนับล้านล้านในจักรวาล
จุดนั้นพาเราเดินทางสู่ความอันเป็นนิรันดร์ที่ไม่สิ้นสุด
แล้วตอนนี้ล่ะ คุณอยู่ใน “จุด” ไหนของชีวิตแล้ว?