World Sleep Day 2023 สุขสันต์วันนอนหลับโลก 2566

ใน ไอเดียแต่งบ้าน
แม้บรรพบุรุษของมนุษย์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องแพนด้า แต่วิวัฒนาการของขอบตาที่ดำก็ทำให้เราสับสนอยู่ไม่น้อย
แม้จะไม่มีกฎหมายข้อไหนห้ามเรานอนดึกหรือให้ต้องนอนครบ 8 ชม.
แต่การที่สายตามนุษย์รับแสงในที่มืดได้น้อยกว่าแมวถึง 6-8 เท่า
ขณะที่แมวนอน 12-18 ชม. ต่อวัน รวมถึงเรื่อง Growth hormone
จะหลั่งเมื่อเราหลับสนิทตอน 4 ทุ่ม-เที่ยงคืน ก็พอจะบอกได้ว่า..
มนุษย์เริ่ม “ดื้อ” กับร่างกายแล้ว แล้วรู้มั้ยว่าเด็กดื้อต้องโดนไรคะ ?
เด็กดื้อที่พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจไม่ได้จบลงแค่ตรงคำว่า “ง่วง”
แต่อาจเสียสุขภาพกาย เสียสุขภาพจิต ลามไปถึงชีวิตความสัมพันธ์ และเหตุอันตรายไม่คาดฝันบนท้องถนน
สมาคมการแพทย์เพื่อการนอนหลับโลก หรือ WASM จึงกำหนดให้วันศุกร์ที่สามของเดือน มี.ค. ในทุก ๆ ปีเป็นวันนอนหลับโลก เพื่อหยิกหลังคนนอนน้อยให้เห็นความสำคัญของการนอนหลับ ในฐานะที่แอดมินก็แอบดื้อนิด ๆ วันนี้เลยหยิบโทษ และ Trick เกี่ยวกับการนอนมาฝากกัน

 

อดนอน นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลเสียนอนไม่หลับ นอนยาก
1. พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงเป็นโรคอ้วน ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ

มีงานวิจัยจำนวนมากในปี 2020 ที่ยืนยันว่า วัยรุ่นขอบตาดำที่ชอบนอนที่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน มีความเสี่ยงที่ดัชนีมวลกายสูงขึ้นหรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีโอกาสอ้วนขึ้นถึง 41% เพราะการอดนอนจะส่งผลให้ฮอร์โมนที่ชื่อว่าเกรลินที่ทำให้เรารู้สึกหิวเพิ่มระดับสูงขึ้น และกลับกันก็ทำให้ฮอร์โมนเลปตินที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มลดระดับลง ทำให้เราตื่นมาแล้วจะรู้สึกหิว จนอยากกินอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จนแคลอรี่พุ่ง นอกจากนั้น การนอนน้อยเกินไปจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าหลัง จนไม่มีกะจิตกะใจที่จะไปออกกำลังกาย

 

2. พักผ่อนไม่เพียงพอ เสี่ยงเสี่ยงสมองเสื่อม ความคิดสร้างสรรค์ถดถอย

มีงานวิจัยที่พบว่า การนอนหลับที่เพียงพอสามารถช่วยเรื่องการเรียนได้โดยตรง ทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยมหาลัย เพราะการนอนที่มีคุณภาพจะช่วยพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และสมาธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงทักษะการแก้ปัญหา ความจำ และความคิดสร้างสรรค์

 

3. เสี่ยงเป็นโรคหัวใจ มีอัตราความดันโลหิตสูง

 

มีงานวิจัยมากถึง 19 ชิ้น พบว่าการนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ถึง 13% และถ้ายิ่งนอนน้อยลงทุก 1 ชั่วโมงก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงอีกขึ้น 6 % ยิ่งถ้าหากคุณนอนเพียง 5 ชั่วโมง ก็มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าที่นอนหลับ 7 ชั่วโมงถึง 61% กลับกันถ้าเกิดนอนหลับมากเกินกว่า 9 ชั่วโมงในวัยผู้ใหญ่ ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน

 

4. เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน

 

มีงานวิจัยที่ทำการศึกษามากกว่า 36 ชิ้น ที่มียอดผู้เข้าร่วมมากกว่า 1 ล้านคน พบว่าการนอนสั้น ๆ ที่น้อยกว่า 5-6 ชั่วโมงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ถึง 48% และ 18% ตามลำดับ เพราะการอดนอนจะทำให้ร่างกายของคุณไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเหมาะสม ส่งผลต่อการเผาผลาญน้ำตาลได้น้อยลง เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภท

 

5.เสี่ยงซึมเศร้า มีปัญหาสุขภาพจิต วิตกกังวล


มีงานศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่ได้ผลสรุปจากการทดลองโดยผู้เข้าร่วมทั้ง 2,672 คนว่า คนที่มีอาการวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะมีผลการนอนที่แย่กว่าคนปกติ เช่น เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือเกิดภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ

 

6. เสี่ยงภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นหวัดง่ายขึ้น 4.5 เท่า

 

มีการศึกษาชิ้นหนึ่ง ที่สรุปผลได้ว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนมีโอกาสเป็นหวัดมากกว่าผู้ที่นอนมากกว่า 7 ชั่วโมงถึง 4.5 เท่า เพราะการนอนที่ไม่เพียงพอส่งผลต่อการตอบสนองของแอนติบอดีของร่างกาย เช่น การอดนอนส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีน COVID-19 ลดน้อยลง

 

7. เสี่ยงอักเสบเรื้อรัง ระบบประสาทมีปัญหา

 

เพราะการนอนหลับนั้นมีส่วนสำคัญสำหรับการควบคุมระบบประสาทส่วนกลางของเราที่เรียกว่าระบบประสาทซิมพาเทติกและแกนไฮโปทาลามิก รวมไปถึงต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต  โดยการอดนอนนั้นมีโอกาสไปกระตุ้นการอักเสบที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนอาจพัฒนาเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ มะเร็งบางชนิด โรคอัลไซเมอร์ โรคซึมเศร้า หรือเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

 

8. ควบคุมอารมณ์ยาก รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา

 

เพราะการอดนอนจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยสะสม ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมยากขึ้น มีอารมณ์ขันและความเห็นอกเห็นใจน้อยลงในขณะที่ความเหงาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในบางคนที่อดนอนเรื้อรังอาจมีกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเข้าสังคมได้

 

ตารางการนอน นอนยังไงให้ไม่ง่วง เวลาการนอนที่ดี

 

เพราะนาฬิกาชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนเป็นเด็กอนามัยนอนไว แค่ 4 ทุ่มก็หัวถึงหมอนแล้ว ขณะที่บางคนเที่ยงคืนแล้วยังตาสว่างอยู่ แต่สุดท้ายแล้วนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหราชอาณาจักร ที่ผู้คนต้องทำงานในโรงงานขนาดใหญ่ มันก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานที่ยาวนาน ซึ่งในสมัยนั้นมากถึง 10-16 ชั่วโมง เป็นเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ ก่อนที่ Robert Owen จะได้คิดคำขวัญที่ว่า 8 Hours of Sleep, 8 Hours of Work, 8 Hours of Entertainment หรือ ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง จนได้กลายเป็นรากฐานการทำงานวันละ 8 ชั่วโมง วันละ 5-6 วันต่อสัปดาห์ในปัจจุบันนั่นเอง

ซึ่งส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยแล้วผู้คนก็จะเริ่มทำงานกันช่วง 7-10 โมง แต่บางคนก็ต้องเผื่อเวลาการเดินทางทำให้ต้องรีบตื่นนอนให้ไวขึ้น กลับกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะนอนไวได้ การเลือกตารางการนอนที่เหมาะสมก็ช่วยให้ตื่นมาแล้วไม่ง่วงได้ โดยอ้างอิงจากทฤษฎี Sleep cycle ที่กล่าวว่า

ร่างกายเราใช้เวลาเตรียมตัวเข้านอน 15 นาที
วงจรการหลับที่ดีต่อวันคือ 5-6 รอบ (7-9 ชม.)
วงจรการหลับ 1 รอบใช้เวลา 90 นาที
(ช่วงหลับลึก 80 นาที + ช่วงหลับตื้น 10 นาที)
เมื่อเราตื่นช่วงหลับตื้นจะช่วยให้ไม่ง่วง :)

 

วันนอนหลับโลก world sleep day bingo การนอนหลับ

 

ก่อนจากกันไป favchair. มี Bingo ให้มาร่วมเล่นกัน ไม่ว่าจะนอนเร็ว นอนช้า หรือนอนเช้าก็ร่วมสนุกกันได้ แต่ถึงจะอดนอนครบ 24ชั่วโมง ก็ไม่ได้ทำให้ปลดล็อกขอบตาทองคำ ที่พูดมาทั้งหมดนี่ไม่ได้เป็นหมอนะ แต่แอดมินเป็นห่วง :)